วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สะกดรอยฯ_เยี่ยมกระทรวงอุตฯ สปป.ลาว


เป็นการติดตามความร่วมมือระหว่าง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ของ สปป.ลาว ณ นครเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2555 โดยได้พบกับอธิบดีกรมอุตสาหกรรมและหัตถกรรม และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ

วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สะกดรอยฯ_21-04-55_ผลกระทบ LPG NGV



สรุปผลเสวนา Morning Talk


เรื่อง “ผลกระทบจากการปรับขึ้นราคา LPG และ NGV
ต่ออุตสาหกรรมไทย”

วัน ศุกร์ ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕

ณ ห้องประชุม ๒๐๒ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

นำเสนอโดย นายอัทธ์ พิศาลวานิช

ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

1. สรุปผลการศึกษา

พลังงานเชื้อเพลิงเป็นวัตถุดิบประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ทั้งในส่วนของภาคการผลิต ภาคการขนส่ง และบริการอื่นๆ แต่จากสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาเห็นได้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละประเภทมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมันที่อยู่ในกลุ่มเบนซิน และดีเซล ทำให้ภาคการผลิตและภาคการขนส่งเกิดปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งจึงลดต้นทุน การเปลี่ยนมาใช้พลังงานเชื้อเพลิงประเภทก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ LPG และ NGV กันมากขึ้น เนื่องจากมีราคาที่ต่ำกว่า และรัฐบาลมีการแทรกแซงเรื่องราคาไม่ให้สูงเกินไป อย่างไรก็ตามปัจจุบัน (2555) รัฐบาลเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ LPG และ NGV เพื่อให้สะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริง การปรับขึ้นราคาค่อนข้างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมทั้งในทางตรงและทางอ้อม สำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ศึกษาดำเนินการติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมต่างๆ จากการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG และ NGV ในปัจจุบัน โดยการสำรวจข้อมูลจากผู้ประกอบการ

จากผลการสำรวจในข้างต้น ผู้ประกอบส่วนใหญ่ยังคงคิดว่าแนวทางการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG และ NGV ยังไม่เหมาะสม เนื่องจากราคาอยู่ในระดับที่สูงเกินไป และมีการปรับขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว โดยระดับราคาก๊าซ LPG และ NGV ที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเห็นว่าเหมาะสมควรเฉลี่ยอยู่ที่ 24.1 และ 10.9 ตามลำดับ และจากการขึ้นราคาก๊าซทั้ง 2 ประเภทนี้อาจส่งผลกระทบด้านลบหรือผลเสียต่อธุรกิจ เนื่องจากทำให้ต้นทุนการผลิต และต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแตกต่างๆ กัน โดยอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อโลหะ โลหะและผลิตภัณฑ์จากโลหะ และยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการบางรายมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% รองลงมาคืออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และเครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ผู้ประกอบการบางรายมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในช่วง 26% ถึง 30% ต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องวางแผนปรับตัวเพื่อรองรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกแนวทางการขึ้นราคาสินค้าเพื่อแก้ปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น โดยคาดว่าราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 20 ผู้ประกอบการบางส่วนพยายามลดต้นทุนการผลิตในส่วนอื่นๆ ทนแทนต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น หรือลดกำลังการผลิตลงประมาณ ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 20 โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการเห็นว่า ภาครัฐควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน 3 อันดับแรกดังนี้ อันดับแรกผู้ประกอบการเห็นว่าภาครัฐควรจะมีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจน สำหรับอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาของก๊าซ LPG และ NGV รองลงมาคือ ภาครัฐควรสนับสนุนในเรื่องของการจัดหาพลังงานทดแทนทางเลือกอื่นๆ ให้มากขึ้น เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับภาคอุตสาหกรรม และอันดับสุดท้ายการปรับราคาก๊าซ LPG และ NGV ควรจะปรับขึ้นในอัตราที่เหมาะสมและมีโครงสร้างการปรับราคาแบบขั้นบันไดที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้อยที่สุด