วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มองเขาดูเรา_10-03-55_ทวายประตูการค้าใหม่



รายการ สะกดรอยอุตสาหกรรม
ดำเนินรายการโดย
ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช และ ธีรทัศน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
แขกรับเชิญ ดร
.สมเจตน์ ทิณพงศ์
กรรมการผู้จัดการทวายเดเวลอปเมนต์  บริษัทอิตาเลี่ยนไทย จำกัด ( มหาชน )
และ คุณ นิยม ไวยรัชพานิช
ประธานกรรมการการค้าชายแดน หอการค้า
เสวนาโต๊ะกลม : ทวาย ประตูการค้าใหม่เชื่อมไทยกับอุตสาหกรรมโลก
            โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า (Dawei Deep Sea Port & Industrial Estate Project and Transborder Corridor Link) เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับพม่า คาดการณ์กันว่า หากโครงการนี้แล้วเสร็จ จะเป็นประตูเศรษฐกิจ (Gate Way) แห่งใหม่ของโลกตะวันตกและตะวันออก โครงการนี้ ถือเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์และการค้าขนาดใหญ่ของภูมิภาค เชื่อมโยงการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในแถบทะเลจีนใต้ ผ่านทะเลอันดามัน ไปสู่มหาสมุทรอินเดียซึ่งเป็นเส้นทางที่สามารถส่งสินค้าทั้งไปและกลับทางน้ำ ผ่านไปสู่กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง, ทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกา ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งได้อย่างมีนัยสำคัญ ช่วยพัฒนาการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เจริญเติบโตในระยะยาวต่อไปเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553 บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ร่วมลงนามใน Framework Agreement กับ Myanma Port Authority, Ministry of Transport ของสหภาพพม่า เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า ซึ่งบริษัทฯเป็นผู้ได้รับสัมปทานในการพัฒนาโครงการ ประกอบด้วย
1) ท่าเรือน้ำลึก  
2) นิคมอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ โรงเหล็ก โรงปุ๋ยโรงไฟฟ้า และสาธารณูปโภคอื่นๆ
3) เส้นทางการคมนาคมได้แก่ ถนน ทางรถไฟ และท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เชื่อมระหว่างเมืองทวาย สหภาพพม่า กับประเทศไทยที่บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี
4) ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า ศูนย์การท่องเที่ยว รีสอร์ท และศูนย์พักผ่อนบริษัทฯพื้นที่โครงการตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสหภาพพม่า ห่างจากเมืองทวาย ประมาณ 30 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ถึง 400,000 ไร่ หรือ 250 ตารางกิโลเมตรประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก 2 ท่า ส่วนที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม ส่วนที่พักอาศัย ส่วนราชการ และส่วนอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งมีพื้นที่ริมทะเลเป็นแนวหาดทรายมีความยาวมากกว่า 12 กิโลเมตร                
                บริษัท อิตาเลียนไทย ได้ลงมือก่อสร้างถนนไฮเวย์กาญจนบุรี-ทวาย จากบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมืองกาญจนบุรี เชื่อมโยงถึงท่าเรือน้ำลึกทวาย ระยะทาง 160 กิโลเมตร โดยด่านพุน้ำร้อนมีระยะทางห่างจาก อ.เมือง ประมาณ 71 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 129 กิโลเมตร ดังนั้น ระยะทางจากทวายถึงกรุงเทพฯ จึงมีระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์เพียง 4 ชั่วโมงโดยเฟสแรกจะเป็นการสร้างถนนไฮเวย์กาญจนบุรี-ทวาย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2555 ภายใต้งบประมาณมูลค่า 2 พันล้านบาท ระหว่างนั้นจะเริ่มดำเนินการเฟสที่สองคือ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย และเฟสที่สามคือ การสร้างเขตนิคมอุตสาหกรรม แบ่งเป็นโซนต่างๆ ประกอบด้วย โซน (A) Port & Heavy Industry โซน (B) Oil & Gas Industry โซน (C1) Up Stream Petrochemical Complex โซน (C2) Down Stream Petrochemical โซน (D) Medium Industry และโซน (E) Light Industry
                ท่าเรือน้ำลึกทวายนี้ ยังอยู่ในโครงการเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) ตามกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Corridor) ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบองค์รวมในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามเส้นทางพัฒนา 3 แนวทาง คือ ทั้งระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC ระหว่างเมืองดานัง เวียดนาม-เมืองเมาะละแหม่ง พม่า) และระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้ (Southern Economic Corridor : SEC ระหว่างนครโฮจิมินห์ เวียดนาม-เมืองทวาย พม่า) รวมทั้งยังสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC ระหว่างนครคุนหมิง จีนตอนใต้-กรุงเทพฯ)             
                ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากโครงการนี้ คือ ด้านศักยภาพความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ กล่าวได้ว่า ท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็น
New Land Bridge ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการกระจายสินค้าในระดับโลก สามารถเชื่อมโยงตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ มาทางมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน ซึ่งแต่เดิมสินค้าที่ส่งไปยุโรป แอฟริกา หรือตะวันออกกลางจะต้องผ่านทางช่องแคบมะละกา ใช้ระยะเวลานาน 16-18 วัน หากท่าเรือน้ำลึกทวายแล้วเสร็จจะช่วยร่นระยะเวลาการขนส่งในปัจจุบัน หากขนส่งจากทะเลจีนใต้มายังทะเลอันดามัน หรือจากเวียดนามมายังพม่าจะใช้เวลาเพียง 6 วัน ทำให้ช่วยลดระยะทางการขนถ่ายสินค้า และลดค่าใช้จ่ายในการกระจายสินค้าได้มากขึ้นสำหรับประเทศไทยท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็นประตูเศรษฐกิจบานใหม่ ที่เชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวาย กับท่าเรือแหลมฉบัง ตามยุทธศาสตร์การค้าการลงทุน เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านของรัฐบาล ดังนั้น สินค้าต่างๆ ที่ไม่ว่าจะมาจากยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ ย่อมจะผ่านท่าเรือน้ำลึกทวายออกสู่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยใช้ระยะเวลาเพียง 1 วัน เท่านั้น และสามารถส่งผ่านไปยังประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น หรือประเทศในแถบแปซิฟิค ในส่วนของความเชื่อมโยงเชิงพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกทวายเชื่อมโยงกับประเทศไทย ที่ด่านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งสถานภาพเป็นด่านชายแดนชั่วคราว ยังไม่มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยทางจังหวัดได้กำหนดให้เป็นจุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อให้ บ.อิตาเลียนไทย ใช้ผ่านเข้าออกในการก่อสร้างถนนไฮเวย์กาญจนบุรี-ทวาย และทางจังหวัดกาญจนบุรีได้กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ของจังหวัดในด้านการพัฒนาพื้นที่ ชายแดนและการเชื่อมโยงด้านการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น: