“มองเขา ดูเรา รู้เท่า รู้ทัน”
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555
สัมภาษณ์ท่านอาจารย์วิกรม วัชรคุปต์ เรื่อง อุตสาหกรรมสีเขียว
สีเขียว คือ สีที่อยู่ตรงกลางของรุ้งทั้ง 7 สี, สีของวันพุธเป็นตรงกลางของสัปดาห์ ดังนั้น สีเขียวจึงหมายถึง การรักษาสมดุลในด้านต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความพอเพียงของในหลวง โดยสีเขียวมีนัยยะถึงความยั่งยืน จึงมีตัวชี้วัดตัวหนึ่ง คือ สิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย คือ ด้านเศรษฐกิจ และสังคม เพราะถ้าเศรษฐกิจและสังคมไม่ดีก็จะไม่สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นจึงต้องมีทั้ง 3 มิติซึ่งจะต้องเดินไปในทางเดียวกัน โดยสังเกตได้จากประเทศที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่ยากจน ส่วนประเทศที่เจริญเช่น สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น จะมีสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม เนื่องมาจากประเทศต่างๆเหล่านี้มีภาวะเศรษฐกิจที่ดีคนในประเทศจึงรุกล้ำสิ่งแวดล้อมน้อยลง เพราะถ้าไม่ดูแลสิ่งแวดล้อมเลยก็จะเกิดปัญหามลภาวะอย่างในประเทศในฝั่งยุโรปตะวันออก และประเทศจีนในบางพื้นที่ ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืน
ประเทศไทยยังอยู่ในขั้นต้นของอุตสาหกรรมสีเขียว เพราะเพิ่งมีการรณรงค์เรื่องนี้ได้ไม่นาน และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรมากมาย จึงส่งผลให้คนไทยมีลักษณะติดสบาย แต่ในอนาคตเมื่อประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นก็จะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
การรณรงค์เรื่องอุตสาหกรรมสีเขียวในปัจจุบันเน้นไปในด้านการตลาด และการประชาสัมพันธ์เป็นส่วนมากเพราะเมื่อมีการใช้สัญลักษณ์ “กรีน” แล้วจะทำให้มองว่าเป็นของที่มีคุณค่า มีราคา จึงสามารถตั้งราคาที่สูงขึ้นได้ แต่ในเรื่องการทำให้เป็น “กรีน” จริงๆนั้นควรรมองให้ครบทุกด้านในทุกๆมุม เพื่อจะทำให้เกิดความยั่งยืน จึงต้องมีการมองถึงเรื่องการใช้ทรัพยากรด้วย เพราะถ้าใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีการควบคุมก็จะเกิดขยะและจะมีต้นทุนในการจัดการเพิ่มขึ้นด้วย แต่ถ้าเรามีการวางแผนการใช้ทรัพยากรให้น้อยลงและหาระบบการบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ก็น่าที่จะเกิดประโยชน์มากกว่าและจะเป็นการลดต้นทุนลงด้วย
อุปสรรคที่สำคัญในการมุ่งไปสู่ “กรีน” คือ
1. ความรู้ความเข้าใจของสถานประกอบการ ที่จะต้องมีการศึกษา อบรมเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน
2. การมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่างๆ ที่ยังไม่มีการเชื่อมโยงกัน จึงควรมีการทำงานร่วมกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น